วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สิ่งมหัศจรรย์ทั้งเจ็ด ของโลกยุคใหม่

มีหลายองค์กรในโลกยุคปัจจุบันต่างก็จัดทำบัญชี 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ขึ้น โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกสถานที่ต่างๆ ต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ชัดคือ จำนวนสิ่งมหัศจรรย์ที่ได้รับการคัดสรรมานี้มีความหลากหลายทางอารยธรรมมากกว่าการจัดทำบัญชีฯ ในโลกยุคกลาง ซึ่งนอกจากจะมีอารยธรรมกรีก โรมัน และอียิปต์แล้ว ก็ยังมีอารยธรรมอื่นๆ ด้วย อาทิเช่น อินเดีย จอร์แดน และกลุ่มประเทศอเมริกาใต้

สิ่งมหัศจรรย์ทั้งเจ็ด ของโลกยุคใหม่ (New 7 Wonder of the World)

ซึ่งการจัดทำบัญชีเหล่านี้ มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกันในบางรายการ อาทิเช่น บัญชีฯ ของสมาคมวิศกรโยธาแห่งอเมริกัน ที่เน้นสิ่งก่อสร้างทางวิศวกรรมในยุคปัจจุบัน หรือบัญชีฯ ที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์อเมริกา USA Today ร่วมกับรายการโทรทัศน์ Good Morning USA ที่คัดเลือกโดยผู้ทรงคุณวุฒิ แต่สำหรับบัญชีฯ ที่เป็นที่นิยมและรู้จักกันโดยทั่วไปได้แก่รายการสิ่งมหัศจรรย์ที่จัดทำโดยองค์กร New Wonders of the World ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่จัดทำขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 2001 - 2007 ซึ่งเราจะขอนำมาเสนอ ดังต่อไปนี้

รูปปั้นพระเยซูคริสต์ (Christ Redeemer)
รูปปั้นพระเยซูคริสต์ ความสูง 38 เมตร ที่มีความยิ่งใหญ่และสง่างาม บนยอดเขาโคคาวาโด (Cocavardo) ในเมืองริโอเดจาเนโร (Rio de Janero) ประเทศบราซิล เริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 1922 และใช้เวลาก่อสร้าง 9 ปี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และเป็นจุดชมวิวเมืองริโอเดจาเนโรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง

กำแพงเมืองจีน (Great Wall of China)
สิ่งมหัศจรรย์ที่ติดอันดับทั้งจากโลกยุคกลางและโลกยุคใหม่ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "กำแพงหมื่นลี้" สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Si Huang) เพื่อป้องกันการรุกรานจากชนเผ่าทางเหนือ และมีการสร้างขยายต่อเติมมาถึงในสมัยราชวงศ์หมิง จากการสำรวจในปี ค.ศ. 2012 พบว่ากำแพงหลักและสาขาย่อยต่างๆ มีความยาวรวมกันเกือบ 22,000 กิโลเมตร โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะนิยมไปเยี่ยมชมกำแพงเมืองจีนกันที่เมืองปักกิ่ง

เมืองโบราณมาชูปิกชู (Machu Picchu)
มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เมืองสาปสูญแห่งอินคา" (The Lost City of The Incas) เป็นเมืองที่มีสิ่งปลูกสร้างกว่า 200 หลัง ตั้งอยู่ยอดเขาสูงในเขตคุสโค (Cusco) เมืองอูรูบัมบา (Urubamba) ประเทศเปรู สร้างโดยจักพรรดิปาชากูติ (Pachacuti) แห่งอาณาจักรอินคาในช่วงศตวรรษที่ 15 แต่ภายหลังจากที่สเปนเข้ามายึดครอง เมืองแห่งนี้จึงถูกปล่อยร้างทิ้งไว้กว่า 300 ปี และถูกค้นพบอีกครั้งโดยนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ไฮแรม บิงแฮม (Hiram Bingham) ในปี ค.ศ. 1911

นครเพตรา (Petra)
เมืองโบราณที่สร้างโดยการเจาะและแกะสลักหินผาในหุบเขา ที่ตั้งอยู่ระหว่างทะเลสาปเดดซี (Dead Sea) และอ่าวอัคบา (Gulf of Aqaba) ในเขตเมืองมาอัน (Ma'an) ประเทศจอร์แดน คาดว่าสร้างขึ้นในราว 312 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นเมืองหลวงของชาวนาบาเทียน (Nabataeans) สันนิษฐานว่านครแห่งนี้ถูกทิ้งร้างในปี ค.ศ. 106 จนกระทั่งถูกค้นพบอีกครั้งในปี ค.ศ. 1812 โดยโจฮันน์ ลุควิค เบิร์กฮาร์ท (Johann Ludwig Burckhardt) นักสำรวจชาวสวิตเซอร์แลนด์

พีระมิดแห่งเมืองชีเชนอิตซา (Chichen Itza)
เมืองโบราณของชาวมายา (Maya) ที่มีพื้นที่ครอบคลุมมากกว่า 5 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตเมืองทินัม (Tinum) ในคาบสมุทรยูคาทาน (Yucatan) ประเทศเม็กซิโก (Mexico) มีวิหารที่สร้างในลักษณะเป็นพีระมิด และมีแท่นบูชายัญสำหรับทำพิธีสังเวยเทพเจ้าอยู่ด้านบน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราว 600 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาในราวปี ค.ศ. 1532 ชาวสเปนได้เข้ามายึดครองและถูกทิ้งร้างไปในที่สุด







สนามกีฬาโคลอสเซียม (Colosseum)
อีกหนึ่งผลงานการก่อสร้างที่ได้รับการจัดอันดับทั้งในรายการสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลางและโลกยุคใหม่ เป็นสนามกีฬาขนาดมหึมาที่ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมของชาวโรมัน ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี สร้างขึ้นในราวคริสต์ศักราชที่ 70 สามารถจุผู้เข้าชมได้เป็นจำนวนหลายหมื่นคน สนามกีฬาแห่งนี้มีอายุยาวนานกว่า 2,000 ปี และยังเป็นต้นแบบของการออกแบบสนามกีฬามาจนถึงยุคปัจจุบันอีกด้วย

ทัชมาฮาล (Taj Mahal)
สุสานหินอ่อนสีขาวขนาดใหญ่ ที่เรียกได้ว่าเป็นอัญมณีแห่งศิลปะมุสลิมในประเทศอินเดีย ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา (Yamuna) ในเมืองอักรา (Agra) สร้างตามพระราชดำริของจักพรรดิ ชาห์ จาฮาน (Shah Jahan) ในปี ค.ศ. 1632 ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 20 ปี เพื่อเป็นที่ฝังพระศพของพระมเหสีมุมทัช มาฮาล (Mumtaz Mahal) ต่อมาถึงช่วงปลายพระชนม์ชีพ จักรพรรดิ ชาห์ จาฮาน ถูกพระราชโอรสของพระองค์เองคุมขังเป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ และพระศพของพระองค์ได้ถูกฝังอยู่เคียงข้างพระมเหสีในทัชมาฮาลนั่นเอง

บัดนี้ การเดินทางย้อนอดีตอารยธรรมโลกของเราได้ปิดฉากลงแล้ว ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามผลงานของเรา และพบกันใหม่ในการเดินทางครั้งหน้า

บทความจาก Skyscanner.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น